ความถี่เดิมของ AIS DTAC Truemove และ Hutch ค่ายโทรศัพท์ในไทย
หลังจากค่ายโทรศัพท์ต่างๆ ได้ทดสอบระบบ 3G และเปิดให้บริการในหลายพื้นที่ หลายคนพอทราบข่าวก็ค้นหาเครื่องโทรศัพท์ระบบ 3G ตามเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต เมื่อตรวจเช็คดูสเปคแต่ละเครื่องแล้ว ก็เริ่มสงสัยกับคลื่นความถี่ของเครื่องโทรศัพท์มือถือในบ้านเมืองเรา ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วจะใช้กับระบบ 3G ของทุกเครือข่ายได้หรือไม่ และค่ายโทรศัพท์ต่างๆ เช่น AIS DTAC True และ Hutch เป็นต้น ใช้คลื่นความถี่อะไรในระบบ 3G นีดฟอร์เมนดอทคอมขออนุญาตแชร์ข้อมูลคลายความสงสัยในเรื่องนี้ แต่ก่อนที่จะไปดูคลื่นความถี่ 3G ของค่ายโทรศัพท์มือถือดังกล่าว เราลองมาดูช่วงความถี่เดิมและมาตรฐานเทคโนโลยีของค่ายโทรศัพท์ต่างๆ กันก่อน ดังนี้
Subject\Operators | AIS | DTAC | Truemove | Hutch | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
มาตรฐานเทคโนโลยี | GSM | GSM | GSM | CDMA | |
ช่วงความถี่เดิม (MHz) | 900 | 850/1800 | 1800 | 800 | |
อายุสัมปทาน | 25 ปี | 27 ปี | 12 ปี | 12 ปี | เวลาเปลี่ยนแปลงได้ |
ระยะเวลา (พ.ศ.) | 2533-2558 | 2534-2561 | 2544-2556 | 2546-2558 |
เมื่อทราบความถี่เดิมของค่ายโทรศัพท์มือถือในไทยผ่านไปแล้ว ลองมาทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายในประเทศไทยกันบ้าง เพราะมีความเชื่อมโยงกับความถี่เดิมของค่ายโทรศัพท์ต่างๆ ซึ่งจะนำเสนอเพียงย่อๆ ดังนี้
จุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายในประเทศไทย1
ก่อนยุคเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สาย ปี พ.ศ.2426 กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข ได้รับโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ห้า ต่อมาปี พ.ศ.2429 กรมโทรเลขก็ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกรมกลาโหมให้มาอยู่ในความดูแล ครั้นถึงปี พ.ศ.2441 กรมไปรษณีย์ และ กรมโทรเลข จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียว ใช้ชื่อใหม่ว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข มีหน้าที่ดำเนินงานโทรศัพท์กับงานไปรษณีย์และโทรเลขไปพร้อมกันด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ.2497 กองชั่งโทรศัพท์ได้แยกตัวออกมาจัดตั้งเป็น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ครั้นถึงปี พ.ศ.2545 รัฐบาลก็ได้แปรรูป ทศท. ไปเป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และอีก 3 ปีต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
กรมไปรษณีย์โทรเลขยังคงดำเนินงานต่อมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2520 จึงได้แยกส่วนงานของกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ไปขึ้นกับ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 และให้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ครั้นถึงปี พ.ศ.2546 รัฐบาลก็ได้แปรสภาพ กสท. ออกเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
จุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สาย เกิดขึ้นเมื่อกรมไปรษณีย์โทรเลขนำเอามาตรฐาน NMT ความถี่ 450 MHz และ 470 MHz เข้ามาจัดสรรให้บริการหน่วยงานของรัฐ ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับโอนภาระงานนโยบายโทรศัพท์เพิ่มเข้ามาในความรับผิดชอบ และได้เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุค 1G ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่โทรศัพท์ก็ยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชาชน
เอไอเอส AIS
ด้วยข้อจำกัดที่โทรศัพท์มีขนาดใหญ่ ทำให้ กสท. นำเอามาตรฐาน AMPS มาเปิดให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่ 800 MHz ส่วนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็นำเอามาตรฐาน NMT ความถี่ 900 MHz เข้ามาให้บริการ และเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 25* ปี เริ่มจากปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา
ดีแทค DTAC
นอกจากนี้ยังมีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC เริ่มดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ AMPS ความถี่ 800 MHz ซึ่งได้รับสัมปทานจาก กสท ในปี พ.ศ.2534* โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี จากการขอขยายสัญญาเดิม 15 ปีเป็น 22 ปี จากนั้นมีการขอแก้จาก 22 ปีเป็น 27 ปี3 ต่อมาเรียกย่านความถี่ที่ได้รับสัมปทานนี้เป็นความถี่ 850 MHz
เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ระบบ NMT และระบบ AMPS ซึ่งเป็นระบบอะนาล็อกก็เริ่มล้าสมัย ทำให้ AIS นำเอาระบบ GSM ความถี่ 900 MHz ซึ่งเป็นระบบดิจิตอลเข้ามาให้บริการในปี พ.ศ.2537 ส่วน TAC ก็นำเอาระบบ GSM ความถี่ 1800 MHz เข้ามาเปิดให้บริการภายใต้เครื่องหมายการค้า Worldphone 1800 จากนั้น AIS ก็ได้เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน ส่วน TAC ก็ได้เปิดให้บริการด้วยเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า Dprompt และเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจาก Worldphone เป็นชื่อ DTAC
ทรูมูฟ Truemove
ครั้นถึงปี พ.ศ.2544 บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ได้เข้ามาเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ GSM ความถี่ 1800 MHz แต่ก็ประสบปัญหาซึ่งทำให้ต้องถอนตัวออกไป โดยได้ถ่ายโอนกิจการให้กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อมา กสท ได้รวมความถี่จากดีแทคจำนวน 2.5 MHz และจาก กสท เองจำนวน 2.5 MHz ได้เป็น 5 MHz ซึ่งอยู่ในช่วงความถี่ 850 MHz ให้ทรูนำไปอัพเกรดบริการ 3 จี2
(ความถี่นั้น นับกันเป็นช่วงหรือเป็นย่าน เช่น ความถี่ 800 MHz หมายความว่าอยู่ในช่วง 800 ถึง 900 MHz ซึ่งรวมจำนวนได้เท่ากับ 100 MHz ในจำนวน 100 MHz นี้จะแบ่งให้ใครเท่าไรก็ตามนั้น แต่เรียกกันว่าความถี่ 800 MHz หรือ 850 MHz ตามความเหมาะสม)
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเติบโตอย่างรวดเร็ว พ.ศ.2545 กิจการร่วมการค้าไทยโมบาย ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กสท. กับ ทีโอที โดยเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ GSM ความถี่ 1900 MHz มีพื้นที่ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ก็สามารถนำไปใช้งานต่างจังหวัดได้ ต่อมา พ.ศ.2551 ทีโอทีได้ไปซื้อหุ้นในส่วนของ กสท. เพื่อมาบริหารเอง
ฮัทช์ Hutch
ความร้อนแรงของธุรกิจสื่อสารไร้สายยังมีต่อเนื่อง พ.ศ.2546 บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด ก็ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ CDMA ความถี่ 800 MHz ซึ่งได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จาก บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบของสัญญาผู้จัดทำการตลาด (Marketing service provider)4 ครั้นถึงต้นปี พ.ศ. 2554 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ก็ได้เข้าไปซื้อหุ้นของฮัทช์มูลค่าประมาณ 6300 ล้านบาท ซึ่งดีลครั้งนี้ทำให้ทรูได้รับสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่จาก กสท เพิ่มขึ้นอีกราว 15 ปี จากเดิมที่อายุสัมปทานของทรูจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2556
************************************************************************
อ้างอิงข้อมูล : 1.พิเชษฐ เมฆขาว. "พัฒนาการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จากยุค 1G ถึง 3G". จาก www.siamphone.com
2.Webmaster. (25 ม.ค.2009). "CAT นัด True พร้อม DTAC หาทางออก.." ค้นเมื่อ ก.พ.2011, จาก www.telecomjournal.net
3.แนวหน้าออนไลน์. (7 ก.พ.2011). "นายกฯไล่จี้..." ค้นเมื่อ ก.พ.2011, จาก www.naewna.com
4.เทเลคอมเจอนัลดอทเน็ต. (21 ก.ย.2009). "ปิดดีลซื้อ Hutch พึ่งตัวเอง หาแนวร่วม 3G..." ค้นเมื่อ ม.ค.2011, จาก www.telecomjournal.net และจาก www.khonhoon.com. (16 ธ.ค.2010). "บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : TRUE แนะนำ ซื้อ..."
* ศลยา ณ สงขลา. "แผนการแปลงสัมปทานเป็นระบบเช่า..." ค้นเมื่อ ม.ค.2011, จาก http://kelive.kimeng.co.th/
************************************************************************
ความถี่ 3g true ais dtac tot กับการเลือกซื้อโทรศัพท์ตามมาตรฐาน 3g ไทย
ความจริงเทคโนโลยี 3 G ใช่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่เสียทีเดียว เพราะในประเทศญี่ปุ่นเขาใช้กันมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะระบบเดิมที่ให้บริการมานานยังเป็นเทคโนโลยี 2 G อยู่ การจะอัพเกรดให้เป็นระบบ 3 G จึงต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อีกทั้งยังต้องมีใบอนุญาตให้ทำ 3 G บนย่านความถี่ที่ต้องจัดสรรกันใหม่ ซึ่งจะเปิดให้มีการประมูลโดย กสทช. ช่วงประมาณปี พ.ศ.2555 แต่ดูเหมือนว่าเวลาจะกระชั้นชิดมากเกินไปเมื่อคิดในแง่มุมของผู้ให้บริการ เนื่องจากอายุสัมปทานเดิมใกล้จะหมดลงแล้ว ทุกค่ายโทรศัพท์จึงต้องใช้ความถี่ที่ตนมีอยู่เช่น 850, 900 และ 1900 MHz เปิดทดสอบให้บริการระบบ 3G ในช่วงแรก ก่อนที่จะเปิดให้มีการประมูลใบอนุญาต 3 G โดย กสทช. ครั้นเมื่อถึงเวลานั้นย่านความถี่ระบบ 3 G ก็เชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยความถี่ที่คาดว่าจะนำมาใช้กับระบบ 3 G น่าจะเป็นช่วงความถี่ 2100 MHz ซึ่งเป็นช่วงความถี่ที่เครื่องโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันรองรับอยู่แล้ว ผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องไปคิดอะไรเลย
วิธีเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือให้ตรงกับความถี่และมาตรฐาน 3g ในไทย
ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีในปัจจุบันก็คือ ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะเลือกซื้อโทรศัพท์มือถืออย่างไรให้รองรับความถี่ 3G ได้ทุกเครือข่าย เพราะหลายคนก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเลือกซื้อสเปคอย่างไรหรือมีวิธีการดูอย่างไร วิธีการง่ายๆก็คือ ให้ดูที่มาตรฐานของเทคโนโลยี 3 G ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ไลน์หรือ 2 ฝั่ง แต่สำหรับมาตรฐานเทคโนโลยี 3G ที่จะใช้ในประเทศไทยเป็นที่แน่นอนแล้วว่า จะใช้มาตรฐาน UMTS หรือ WCDMA เป็นหลัก เนื่องจากเป็นระบบที่นิยมใช้กันทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีอนาคตที่ดีกว่ามาตรฐาน CDMA จากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะซื้อเครื่องโทรศัพท์ก็ให้ดูที่สเปคที่เขาเขียนว่า UMTS หรือ WCDMA ซึ่งมีย่านความถี่ที่รองรับ 3 G บอกไว้ ตัวอย่างเช่น WCDMA 850/900/1700/1900/2100 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่รองรับระบบ 3 G ได้ทุกเครือข่าย จากเดิมที่รองรับระบบ GSM ในย่าน Quadband หรือ Triband อยู่แล้ว เช่น Quadband : GSM 850/900/1800/1900 MHz จึงทำให้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันมี 2 โมด ถ้าผู้ซื้อโทรศัพท์มือถือเช็คสเปคดูแล้วตรงกับย่านความถี่ 3G ของทุกเครือข่าย ก็ไม่ต้องลังเลสงสัยอีกต่อไปแล้ว แต่ทว่าเครื่องโทรศัพท์ที่รองรับระบบ 3 G ได้ทุกเครือข่ายย่อมมีราคาค่อนข้างแพงหรือแพงมาก ซึ่งผู้ซื้อสามารถดูเปรียบเทียบความถี่ของเครื่องโทรศัพท์ให้ตรงกับย่านความถี่ 3 G ของค่ายโทรศัพท์ต่างๆ ได้ดังนี้
Operators | 2 G | 2.5G - 2.75G | ความถี่เดิม (MHz)1 |
---|---|---|---|
มาตรฐานเทคโนโลยี | มาตรฐานเทคโนโลยี | ||
AIS | GSM | GPRS/EDGE | 900/1800 MHz |
dtac | GSM | GPRS/EDGE | 850/1800 MHz |
True | GSM | GPRS/EDGE | 1800 MHz |
hutch | CDMA | CDMA2000 1xRTT | 800 MHz |
cat | CDMA/GSM | CDMA2000 1xRTT | 800/850/1800 MHz |
tot | GSM | GPRS/EDGE | 900/1900 MHz |
หมายเหตุ | |||
Operators | 3 G | 3.5G - 3.75G | ความถี่ (ก่อนประมูล 3จี) |
มาตรฐานเทคโนโลยี | มาตรฐานเทคโนโลยี | ||
AIS | UMTS/ WCDMA | HSPA(hsdpa) / HSPA+ | 900 MHz |
dtac | UMTS/ WCDMA | HSPA(hsdpa) / HSPA+ | 850 MHz |
True | UMTS/ WCDMA | HSPA(hsdpa) / HSPA+ | 850 MHz2 |
CDMA2000 1xEV-DO | 800 MHz | ||
cat | CDMA2000 1xEV-DO | 800/850 MHz | |
tot | UMTS/ WCDMA | HSPA(hsdpa) / HSPA+ | 1900/2100 MHz |
หมายเหตุ | Flash-OFDM | ||
Operators | 3.9 G | 4 G | ความถี่ (MHz) |
มาตรฐานเทคโนโลยี | มาตรฐานเทคโนโลยี | ||
1 | LTE (E-UTRA) | LTE Advanced | 2100 MHz |
2 | LTE (E-UTRA) | LTE Advanced | 2100 MHz |
3 | LTE (E-UTRA) | LTE Advanced | 2100 MHz |
4 | LTE (E-UTRA) | LTE Advanced | 2100 MHz |
5 | LTE (E-UTRA) | LTE Advanced | 2100 MHz |
หมายเหตุ | WiMAX (IEEE 802.16e-2005), (IEEE 802.16m) |
จากตารางความถี่ 3 G ของค่ายโทรศัพท์มือถือในไทย จะสังเกตเห็นว่าในช่องลำดับต่อมาของแบรนด์ชื่อดังอย่าง Hutch ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยมานาน ครั้นถึงต้นปี พ.ศ.2554 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้าไปซื้อหุ้นของฮัทช์มูลค่าประมาณ 6300 ล้านบาท ซึ่ง deal ครั้งนี้ทำให้ทรูได้รับสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่จาก กสท เพิ่มขึ้นอีกราว 15 ปี จากเดิมที่อายุสัมปทานของ True จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2556 จริงอยู่การที่ทรูเข้าไปซื้อหุ้นของฮัทช์ในครั้งนี้เป็นข่าวที่ต้องตรวจสอบความจริง อาจไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่ตั้งไว้แต่แรก เพราะการเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือให้รองรับย่านความถี่ 3 g ของทุกเครือข่ายตามมาตรฐาน 3 G ในไทย ผู้อ่านสามารถดูเปรียบเทียบได้จากตารางข้างบนนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย และย่านความถี่ 3 G ที่จะนำมาใช้กับระบบของค่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายเอง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดสลับซับซ้อน มีความเป็นมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ ผู้อ่านโปรดตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายอีกครั้ง
**********************************************************************
อ้างอิงข้อมูล : 1. gang. (13 ส.ค.2010). "ความถี่ของโทรศัพท์มือถือในไทย". ค้นเมื่อ ก.พ.2011, จาก www.m108.com
2.Webmaster. (25 ม.ค.2009). "CAT นัด True พร้อม DTAC หาทางออก.." ค้นเมื่อ ก.พ.2011, จาก http://www.telecomjournal.net/
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น